บันทึกโดย : ์Natthaya.N     หมายเลขโทรศัพท์ : -
วันที่บันทึก : 14/05/2564
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับมอบการสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล
วันนี้ (14 พ.ค. 2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับมอบการสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับโรงพยาบาลสนามของรัฐบาลภายใต้กรอบวงเงิน 200 ล้านบาท จากนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ณ โรงพยาบาลบุษราคัม ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ทั้งนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุม กสทช. เห็นชอบในหลักการสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับโรงพยาบาลสนามของรัฐในกรอบวงเงิน 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของรัฐบาล
โดยให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ร่วมดำเนินการ สามารถนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมาลดหย่อนจากรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากภารกิจด้านโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะมาหักลดหย่อนจากรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ประชุมหารือร่วมกับกรมการแพทย์ ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุข และผู้แทนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อหารือถึงแนวทางดำเนินมาตรการ ข้อมูลจำนวนโรงพยาบาล พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินมาตรการ จากนั้นสำนักงานฯ ได้ประชุมกับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้ข้อสรุปว่าจะสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น ตามขนาดของโรงพยาบาลสนามที่เปิดให้บริการในปัจจุบันและรองรับจำนวนที่อาจเปิดในอนาคต
กสทช. จะสนับสนุนให้มีอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับโรงพยาบาลสนามของรัฐเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่
1.อุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access point)
2.อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switch)
3.อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่าย (Router)
4.เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก
5.คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต
6.กล้องวงจรปิดชนิดเครือข่ายและอุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่ายเพื่อติดตามอาการผู้ป่วย
7.เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยมีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการ ดังนี้
1.โรงพยาบาลขนาด XS ได้แก่ โรงพยาบาลสนามที่มีจำนวนเตียงไม่เกิน 50 เตียง สนับสนุนอุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access point) 3 ชุด อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switch) ขนาด 8 Port 2 ชุด และขนาด 24 Port 1 ชุด อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่าย (Router) ขนาดเล็ก (Capacity 100-150 Devices) 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 2 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต 2 เครื่อง กล้องวงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สำหรับติดตั้งภายในอาคาร 6 ชุด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย 1 ชุด และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง
2.โรงพยาบาลขนาด S ได้แก่ โรงพยาบาลสนามที่มีจำนวนเตียง 51 - 100 เตียง สนับสนุนอุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access point) 6 ชุด อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switch) ขนาด 8 Port 2 ชุด และขนาด 24 Port 1 ชุด อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่าย (Router) ขนาดเล็ก (Capacity 100-150 Devices) 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 4 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต 4 เครื่อง กล้องวงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สำหรับติดตั้งภายในอาคาร 6 ชุด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย 1 ชุด และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 เครื่อง
3.โรงพยาบาลขนาด M ได้แก่ โรงพยาบาลสนามที่มีจำนวนเตียง 101 - 150 เตียง สนับสนุนอุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access point) 9 ชุด อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switch) ขนาด 8 Port 2 ชุด และขนาด 24 Port 1 ชุด อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่าย (Router) ขนาดเล็ก (Capacity 100-150 Devices) 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 6 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต 6 เครื่อง กล้องวงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สำหรับติดตั้งภายในอาคาร 10 ชุด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย 1 ชุด และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 6 เครื่อง
4.โรงพยาบาลขนาด L ได้แก่ โรงพยาบาลสนามที่มีจำนวนเตียง 151 - 200 เตียง สนับสนุนอุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access point) 15 ชุด อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switch) ขนาด 8 Port 2 ชุด และขนาด 24 Port 3 ชุด อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่าย (Router) ขนาดใหญ่ (Capacity 200-1000 Devices) 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 8 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต 8 เครื่อง กล้องวงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สำหรับติดตั้งภายในอาคาร 15 ชุด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย 1 ชุด และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 8 เครื่อง
5.โรงพยาบาลขนาด XL ได้แก่ โรงพยาบาลสนามที่มีจำนวนเตียง 201 - 400 เตียง สนับสนุนอุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access point) 20 ชุด อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switch) ขนาด 8 Port 2 ชุด และขนาด 24 Port 3 ชุด อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่าย (Router) ขนาดใหญ่ (Capacity 200-1000 Devices) 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 10 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต 10 เครื่อง กล้องวงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สำหรับติดตั้งภายในอาคาร 20 ชุด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย 1 ชุด และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 เครื่อง
6.โรงพยาบาลขนาด 2XL ได้แก่ โรงพยาบาลสนามที่มีจำนวนเตียง 401 – 1,000 เตียง สนับสนุนอุปกรณ์กระจายสัญญาณไร้สาย (Access point) 40 ชุด อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Switch) ขนาด 8 Port 2 ชุด และขนาด 24 Port 3 ชุด อุปกรณ์ค้นหาเส้นทางเครือข่าย (Router) ขนาดใหญ่ (Capacity 200-1000 Devices) 1 ชุด เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 15 เครื่อง คอมพิวเตอร์แท็ปเล็ต 15 เครื่อง กล้องวงจรปิดชนิดเครือข่าย แบบมุมมองคงที่สำหรับติดตั้งภายในอาคาร 30 ชุด อุปกรณ์บันทึกภาพผ่านเครือข่าย 1 ชุด และเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 15 เครื่อง
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการฯ ในการติดตั้งอุปกรณ์มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมตามความจำเป็นของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง อนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถดำเนินการปรับรายการและจำนวนอุปกรณ์ให้เป็นไปตามความต้องการของโรงพยาบาลสนามแต่ละแห่ง ซึ่งสามารถนำมาถัวค่าใช้จ่ายระหว่างรายการกันได้ แต่ต้องไม่เกินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ในแต่ละขนาดของโรงพยาบาลสนาม
“กสทช. พร้อมสนับสนุนให้มีบริการโทรคมนาคม อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับโรงพยาบาลสนามของรัฐ เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ช่วยสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการให้การรักษาผู้ป่วย” นายไตรรัตน์ กล่าว